Wednesday, March 2, 2011

ประชาธิปไตยเล็กๆ

เป็นภาพที่น่าประทับใจ ที่เห็นประชาธิปไตยเล็กๆกำลังเบ่งบาน
ณ.ที่แห่งนี้โรงเรียนวังโป่งศึกษา

การเลือกตั้งประธานนักเรียนของโรงเรียนวังโป่งศึกษากำลังเริ่มขึ้น
ประธานนักเรียนคนปัจจุบัน ปีการศึกษา 2553 กำลังจะหมดวาระในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งก่อนหน้าที่จะถึงวันเลือกตั้งประมาณ 1 สัปดาห์ก็เปิดโอกาสให้ผู้สนใจสมัครลงรับเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียน ได้สมัครและหาเสียง ซึ่งปีนี้มีทั้งหมด 8 ท่าน และทั้งหมดเป็นชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายตั้งแต่ ม. 4- ม.5 ส่วนม.6 อีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะกลายเป็นศิษย์เก่าไป เด็กกลุ่มนี้จะเป็นเด็กกิจกรรมมาก่อนหรือไม่ก็เคยเป็นประธานนักเรียนในโรงเรียนเดิม หลังจากสมัครก็เปิดโอกาสให้แนะนำตัวและแถลงนโยบายสั้นๆฝ่ายเสียงตามสายของโรงเรียน

วันต่อมาก็ให้มาแนะนำตัวที่หน้าเสาธง ให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆได้เห็นหน้า จากนั้นก็จะให้เวลา3-4 วันในการทำใปปลิวแนะนำตัว ประชาสัมพันธ์นโยบาย ซึงเห็นได้ว่าน้องๆทำได้ดีกว่าที่พูดเยอะมาก ใบปลิวแนะนำตัวถูกแปะไว้ตามส่วนต่างๆของอาคาร เสาไฟฟ้า หรือที่ๆที่พอจะแปะได้
เช้าวันที่ 3 มีนาคม 54 หลังที่สอบปลายภาคเสร็จก็ถึงวันเลือกตั้ง เช้าวันนี้ ผู้สมัครทั้ง 8 คน ได้มีโอกาสแถลงนโยบายครั้งสุดท้ายกอ่นการเลือกตั้ง ดูดีกว่าสัปดาห์ที่แล้วมาก น้องๆกล้าพูดมากขึ้น

ประมาณ 12.30 น.ของวันที่ 3 มีนาคม 54 หลังจากที่ รับประธานอาหาร กลางวันเสร็จ ประธานนักเรียนคนปัจจุบันซึ่งอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าจะกลายเป็นอดีต ประกาศให้นักเรียนทุกคนมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกประธานนักเรียน

น้องๆ ม.1 จนถึงพี่ ม.6 ราว 300 ชีวิตในชุดเหลือง-เขียว ยืนเข้าแถวเพื่อรอใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างอดทน มือถือบัตรประจำตัวนักเรียน คณะกรรมการชุดปัจจุบัน นั่งอยู่ในคูหาเลือกตั้งที่เลือกเอาใต้ถุนอาคาร มาทำชั่วคราว ใช้เชือกฟางสีแดง กั้นพอเเบ่งเขตว่าส่วนนี้เฉพาะเจ้าหน้าที่คนอื่นห้ามเข้า คูหาลงคะแนน หีบบัตร ใช้แบบเดียวกับการเลือกตั้งระดับประเทศ

ขั้นตอนในการใช้สิทธิ เหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไปทุกอย่าง คนที่จะเลือกได้ต้องมีบัตรประจำตัวนักเรียน มาใช้สิทธิให้ตรงเวลา หลังจาก แสดงบัตรก็จะตรวจรายชื่อตามชั้นเรียน ตามห้องที่ตนเรียนอยู่ จากนั้นเซ็นต์รับบัตรเลือกตั้ง เข้าคูหา กาลงคะแนน ซึ่งในบัตรเลือกตั้งก็จะมีหลายเลขผู้สมัคร ที่จะกา พร้อมทั้งช่องไม่ลงคะแนนสำหรับผู้ประสงค์จะไม่ลงคะแนน หลังจากกาเสร็จ ก็จะเดินมายัง หีบบัตรที่ตั้งอยู่ตรงหน้า แสดงบัตรพับและหย่อน บัตรเป็นอันจบการใช้สิทธิ


ภาพที่น่าประทับใจอีกภาพหนึ่ง คือ ครูอาจารย์ก็ได้รับสิทธิในลงคะแนนเสียงด้วย จึงสามารถเรียกได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งของโรงเรียนอย่างแท้จริง ไม่ใช่การเลือกตั้งของนักเรียน

การเลือกตั้งได้สิ้นสุดลงประมาณ 14.30 น. หลังจากนั้นก็ปิดหีบและนับคะแนน ซึ่งไช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง คณะกรรมการการเลือกตั้ง หยิบบัตร ขานคะแนนเบอร์อะไร เสียงกองเชียร์ก็ดังเป็นระยะๆ เหมือนกับการเลือกตั้งในระดับที่ใหญ่ๆ การนับคะแนนใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก็จบลงผลการเลือกตั้งผู้ที่ได้รับเลือกคือ เบอร์ 3 ซึ่งถือว่าเป็นม้ามืด ว่าที่ประธานนักเรียนคนใหม่ ตัวเล็ก ขี้อาย พูดไม่ค่อยชัด แถมพูดไม่เก่งด้วย ซึ่ง หลังจากนั้นประธานนักเรียนมีสิทธิที่จะ
เลือกหรือแต่งตั้งคณะกรรมการนักเรียนอีก 15 คน เพื่อมาเป็นทีมงานในฝ่ายต่างๆ

มันเป็นประชาธิปไตยเล็กๆ เรียบง่าย แต่สวยงาม เพราะคนที่ถูกเลือกและคนที่ไม่ถูกเลือกสุดท้ายก็ได้ทำงานร่วมกัน เพื่อให้วังโป่งศึกษาก้าวไปข้างหน้าแต่จะจริงหรือสวยงามอย่างนโยบายที่ผู้ได้รับเลือกได้ให้สัญญาเอาไว้ต้องเอาใจช่วยประธานและคณะกรรมการชุดนี้ให้มากๆและต้องลุ้นกันยาวๆ

Monday, February 7, 2011

ทำบุญกับชี

วันนี้ตั้งใจจะไปทำบุญกับพระสักรูป ซึ่งมีความตั้งใจแต่แรกว่าจะไปที่วัดเดียวกันกับวัดที่น้องสาวที่เพิ่งรู้จักไป แถว บ้านวังศาล แต่เมื่อไปถึงวัดที่คิดว่าใช่ ความรู้สึกกลับบอกตัวเองว่าไม่ใช่วัดที่คาดหวัง เพราะเข้าใจว่า วัดที่น้องไปน่าจะเป็นวัดเล็กๆอยู่ห่างจากชุมชน แต่พอไปถึงต้องเลี้ยวกลับแบบไม่คิดอะไรมาก เพราะวัดนั้นเป็นวัดที่ดูเหมือนมีญาติโยม พุทธบริษัท มาทำบุญมากพอสมควร ขอบเขตพัทสีมากว้างขวาง หลังจากกลับรถมุ่งสู่ทางเดิม พยายามมองหาวัดทางขวามือ ที่เพิ่งผ่านมา แล้วก็มองเห็นวัดที่ต้องการ เป็นวัดเล็กๆมองเห็นไกลเหมือนกำลังสร้างใหม่ ตัดสินใจว่าจะไปทำบุญกับวัดนี้ แต่กว่าจะไปถึงก็กินเวลาเกือบครึ่งชั่วโมง เพราะหลงทางไปเกือบ 2 กิโล วัดนี้ ชื่อว่าวัดเนินคายสามัคคี(น่าจะเกิดจากความสามัคคีของญาติโยมที่ต้องการให้มีวัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จึงร่วมใจกันสร้างวัด) อยู่บ้านเนินคาย ต.วังศาล อ.วังโป่ง สภาพของวัดเป็นวัดที่สร้างได้ไม่นาน มีกุฏิพระอยู่ 1 หลัง ไม่มีพระอุโบสถมีเพียงศาลา วัดที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ พอถึงมุ่งตรงไปที่กุฏิพระโดยสังเกตที่มีผ้าสีเหลืองพาดอยู่กับราว แต่กลับไม่มีพระอยู่ ขณะนั้นสายตาเหลือบไปเห็นกระท่อมเล็กๆเก่าๆหลังหนึ่ง มองไกลๆมีผู้หญิง นุ่งขาวห่มขาวทำอะไรสักอย่างที่ชานกระท่อม มุ่งตรงไปทันทีพอเข้าใกล้จริงรู้ว่าเป็นแม่ชี แก่ๆ นุ่งขาว ห่มขาว เก่ามากจนสีออกนำตาล รอยใช้เข็มแบบเย็บมือห่างๆปะ ผ้าให้ติดกัน โกนหัว โกนคิ้ว กำลังนั่งล้างถ้วยชามอยู่ จึงเข้าไปถามเกี่ยวกับพระ ซึ่งท่านไม่อยู่ ไม่รู้กลับเมื่อไหร่ ด้วยความตั้งใจที่จะทำบุญ ก็บอกกับตนเองว่า ไม่เป็นไรพระไม่อยู่ทำบุญ กับชีก็ได้ ก็เลยถวายของและปัจจัยที่พี่สาวฝากมาไปให้ยายที่เพิ่งเสียไปผ่านทางแม่ชี
หลังจากได้คุยกับแม่ชีประมาณ 2 นาที ท่านบอกว่าท่านเคยตายมาแล้วแต่ฟื้นซึ่งประโยคนี้ได้กระตุ้น ต่อมความอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาทันที แม่ชีจึงบอกให้เอาแจกัน เชิงเทียนที่นำมาถวาย ไปไว้ที่ศาลา ซึ่งท่านบอกว่า ในศาลามีสังขารพระชรารูปหนึ่งที่มรณะภาพได้ไม่นานเก็บไว้ในโลงรอเวลาฌาปนกิจ ดูตามฉากผ้าข้างหลังท่านอายุ 97 ปี พรรษา 21 คือบวชมา21 พรรษา พอวางแจกันเคารพศพพระก็นั่งคุยกับแม่ชีต่อ
ท่านบอกว่าท่านชื่อบาง อายุ 84 ปี เป็นคน ต.สากเหล็ก จ.พิจิตร พอแต่งงานก็ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านห้วยงาช้าง อ.ชนแดน สาเหตุของการออกบวช คือ ตอนที่ท่านอายุได้ 57 ปีท่านป่วยหนัก จนหมอรักษาไม่ไหวบอกให้ญาติทำใจ เพราะอวัยวะภายในของท่านทุกอย่างล้มเหลวหรือตายหมดแล้ว รอเพียงญาติมาครบ จะได้ถอดเครื่องช่วยหายใจ ท่านจะได้หลับอย่างสงบ ซึ่งช่วงที่รอญาติอยู่นั้นเป็นเวลาประมาณ 2 วัน1 คืน แต่พอน้องสาวคนสุดท้ายของท่านมาท่านกลับฟื้นและเล่าให้ฟังว่า ท่านได้ถูกผู้ชายแต่งตัวเหมือนชาวบ้านธรรมดานี่แหละ 4-5 คน(ท่านเข้าใจว่าเป็นยมทูต) ให้เชือกมัดมือของท่านติดกันแล้วลากท่านไปในป่าคนอยู่ข้างหลังก็คอยเฆี่ยนคอยตีให้ท่าเดินเร็วๆ ด้วยความที่ท่านไม่สบายก็ถูกลากไป จนแขนเสื้อขาดรุ่งริ่ง มีบาดแผลเลือดไหลจากแขนทั้ง 2ข้าง พอไปถึงที่ที่หนึ่ง ท่านก็เห็น ผู้ชายคนหนึ่งตัวใหญ่มากใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวสีดำ นั่งอยู่บนเก้าอี้สูงสูงในมือถือ สมุดเล่มใหญ่หนึ่งเล่ม(ท่านเรียกว่ายมบาล) แล้วสั่งให้ยมทูตพาท่านเดินรอบกะทะทองแดง 3 รอบ ซึ่งในกะทะทองแดงจะมีน้ำต้มเดือดสีเหมือนไฟ แล้วก็จะมีคนที่มีหัวแตกต่างกันออกไป เช่น บางคนมีหัวเป็นไก่ บางคนมีหัวเป็นหมู บางคนมีหัวเป็นควาย ท่านบอกว่าการที่คนเหล่านี้มีหัวต่างกันเพราะในสมัยที่เป็นคนได้ฆ่าสัตว์แตกต่างกัน บางคนฆ่าไก่หัวก็เป็นไก่ บางคนฆ่าควายหัวก็เป็นควาย เป็นต้น หลังจากนั้นก็ถามท่านว่าอยากเห็นเรื่อน(กระท่อม)ของท่านรึเปล่า (เรือน(กระท่อม)หลังนี้ท่านเคยสร้างถวายตอนที่เป็นสาว) ท่านบอกว่าอยากเห็น ยมบาลก็เลยให้ ยมฑูต พาท่านไปดูเรือนให้ท่านเดินรอบเรือน 3 รอบ สิ่งที่ท่านสังเกตเห็นภายในเรือน คือ สิ่งของทุกอย่างที่ท่านเคยทำบุญมาจะอยู่ภายในเรือนแห่งนี้ทั้งหมด ท่านจึงสอนว่าทำไปเถอะบุญสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหนมันจะรอเราอยู่เมื่อเราตายไป หลังจากนั้นยมบาลก็ถามท่านว่า อยาก อยู่บนเรือนนี้มั๊ย ท่านบอกว่าไม่ จากนั้นท่านก็ถูกโยนขึ้นมาบนเครื่องบิน ซึ่งในเครื่องบิน ก็จะมีรัชกาล ที่ 2 รัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 (หลังจากที่ฟังมาถึงตรงนี้เริ่มเกิดความสงสัยเกี่ยวกับสติของแม่ชีแต่ก็ไม่ได้ขัดอะไร )จากนั้นท่านก็ตื่น เห็นลูกหลานนั่ร้องไห้กันเต็ม ท่านจับดูเสื้อผ้าก็ไม่ขาด รอยแผลก็ไม่มี หลังจากนั้นท่านก็รักษาตัวพอหาย ก็มีพระแนะนำให้ท่านบวช อยู่ที่วัดแถวบ้านห้วยงาช้าง ทีแรกท่านกะบวชประมาณ 9 วัน แต่พอวันที่จะสึกท่าน ท่านก็เห็นพระรูปหนึ่งตัวผอมและสูงมากเดินออกมาจากจอมปลวก มาถามท่าน ว่าจะสึกจริงหรือท่านก็บอกว่าสึกจริงถามย้ำคำถามเดียว 3 ครั้งท่านก็ยืนยัน ว่าจะสึกทั้ง3 ครั้ง จากนั้นพระรูปนั้นก็ให้ท่านก้มห้วแล้วก็เป่าลมผ่านศรีษะท่าน ตอนที่ลมกำลังผ่านท่านรู้สึกว่าลมนั้นเย็นมากคล้ายๆกับเอานำแช่นำแข็งมาราดไปทั่วตัวท่าน แล้วก็บอกกับท่านว่า อย่าสึกเลยอยู่จนตายคาผ้าขาวนี้แหละ จากนั้นท่านก็ไม่รู้ว่ามีอะไรมาดลใจทำให้ท่านไม่อยากที่จะสึก จนถึงวันนี้ก็ล่วงเลยมา 27 ปีแล้ว ที่ท่านอยู่ในชุดนี้เคยไปอยุ่หลายวัดแถวโคราชมาอยู่ที่วัดนี้ได้ประมาณ 8 ปี
ด้วยความที่ยังสงสัยว่ายายจะได้รับของที่ถวายไปให้หรือไม่เพราะเราไม่ได้ถวายกับพระซึ่งถือว่าเป็นผู้ทรงศีล จึงถามท่านว่า แล้วท่านปฏิบัติตัวอย่างไร ท่านก็บอกว่าปฏิบัติตัวเหมือนพระบ้านทั่วไป คือฉันวันละ 2 มื้อ สวดมนต์ทำวัตร เหมือนพระ ตามหลักแล้วศีลสำหรับภิกษุณีมี310 ข้อ มากกว่าพระซึ่งถือ 227 ข้อ แต่นี่คือ ชีไม่ใช่ภิกษุณี ทำให้ไม่ต้องเคร่งครัดมากขนาดนั้นอีกทั้งสภาพสังคมเปลี่ยนไปจากสมัยพุทธกาลเยอะมากไม่มีพระรูปไหนถือศีลได้ครบ ตรงนี้จึงไม่คิดอะไรมาก อีกทั้งมีเจตนาที่บริสุทธิ์ของที่นำมาถวายก็บริสุทธิ์และใจตอนนั้นก็คิดว่าผู้รับก็บริสุทธิ์แม้จะไม่สามารถถือศีลครบก็ตาม แต่ก็กระดากบ้างที่ต้องกราบชีทั้งที่ตนเองเคยบวชเป็นพระมาก่อน แต่ก็ไม่เป็นไร จากนั้นก็ลาท่านกลับ
หลังจากออกจตัววัดมาถึงถนนสายหลัก (มุ่งสู่ อ.วังโป่ง) ได้ไม่นานก็เกิดเหตุการเหนือธรรมชาติเกิดขึ้น เพราะช่วงที่กำลังขี่รถมอเตอร์ไซ อยู่นั้น มีเลียงและลมพัดคล้ายกับมีนกตัวใหญ่มากบินโฉบจากข้างหลังผ่านหัวไป ความแรงต้องแรงมากเพราะ สัมผัสถึงความเย็นได้ทั้งๆที่สวมหมวกกันน็อคแบบครอบทั้งหัวอยู่ จากนั้นก็มีเสียงเหมือนคนสะบัดผ้าผ่านตรงหน้า 2 ครั้งเสียงดังมากกว่าเสียงมอไชค์ที่กำลังวิ่งอยู่ด้วยซ้ำ สายตาพยายามเหลียวหานกตัวนั้น และดูที่มาของเสียงว่ามาจากไหนก็ไร้ร่องรอย จึงได้แต่ทำความเข้าใจไปเองว่าท่นนต้องบอกอะไรสักอย่าง พอขี่รถไปสักพักก่อนถึงก่อนถึงโรงรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร อยู่ดีๆยางรถก็รั่วขึ้นมาเฉยๆ สุดท้าย ต้องขี่รถบดยางกลับไปยังร้านซ่อมรถหน้าปากทางเข้าวัด พอเติมลมดูจึงรู้ว่าดีแล้วที่ยางรถรั่วในตอนนี้เพราะ ถ้าหากรุ่วช้ากว่านี้หรือเร็วกว่านี้ คงต้องจูงอีกไกล เพราะทีแรกตั้งใจว่าทำบุญเสร็จจะขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านที่หล่มสักอยู่ ระยะทางก็ร้อยกว่ากิโล ถ้ารั่วระหว่างทางหรือรั่วบนเขาคงแย่
ถ้าหากไม่คิดเข้าข้างตัวเองมากเกินไปนี่อาจจะเป็นอานิสงฆ์ของการทำบุญ ทำให้เกิดลางบอกเหตุล่วงหน้าก่อนที่จะพบกับปัญหาใหญ่ เหมือนกับ ที่แม่ชีบอกว่า ทำเถอะบุญน่ะ ทำแล้วไม่ไปไหนหรอก ของเหล่านั้นจะไปรอเมื่อเราตายไป หรือ เหมือนกับที่ท่าน พระอาจารย์ จรัญ จิตธัมโมท่าสอนว่า การทำบุญก็หมือนกับการกินข้าวคนไหนทำคนนั้นก็ได้ คนไหนกินคนนั้นก็อิ่ม
สรุปแล้วการทำบุญกับชีท่านนี้แม้จะมีข้อสงสัยหลายอย่างแต่อย่างน้อยผลของการทำบุญก็ทำให้เราเจอกับปัญหาน้อยกว่าที่ควรจะเจอ ส่วนยายคงได้รับบุญแน่นอนเพราะคนให้เจตนาบริสุทธิ์ แม้จะมีข้อสงสัยอยู่บ้างก็ตาม ของที่ทำก็บริสุทธิ์ และชีก็ถือท่านมีเจตนาบริสุทธิ์ที่สอนถึงการทำบุญแม้เรื่องราวที่ท่านเล่ามีบางเหตุการที่ไม่น่าเชื่อก็ตาม

Thursday, September 18, 2008

แม่น้ำมูน

แม่เมือง ม้วยมรณ์
แม่มูนมิ่งเหมือนแม้น แม่เมือง
หล่อเลี้ยงลูกหลานเรือง ล้นหลาม
เขื่อนขึ้นขวางโขดขอด ขุ่นข้น
แม่มูนมาหม่นหมอง แม่เมือง ม้วยมรณ์

ปากมูน ปากแม่
ปากมูนเหมือนปากแม่ ปากมั่ง ปากมี
ปากป้อนปราณปรานี ปกป้อง
ปราชญ์ปิดปากเปลี่ยนแปลง ปากเมือง
ปากแม่แปดเปื้อนมล ปากหม่น ปากหมอง

แม่มูน
ทอดสายยาว จากป่าเขา เป็นลำห้วย ระรินรวย สู่ธารฉ่ำ ลำน้ำไหล
เลียบลัดเลาะ เซาะแผ่นดิน ถิ่นใกล้ไกล เป็นแม่ใหญ่ เป็นหัวใจ ให้ชีวี
แม่น้ำมูน บุญคุณแม่ แผ่ไพศาล เลี้ยงลูกหลาน เติบโตใหญ่ ไปทุกที่
ทั้งผู้ว่าฯ นายกฯ รัฐมนตรี ล้วนโตจาก แม่คนนี้ แม่ลำมูน
แล้วสิ่งใด สนองใน คุณของแม่ มองเป็นแค่ ลำน้ำใหญ่ ไม่สิ้นสูญ
สวาปาม น้ำอุดม ดินสมบูรณ์ รีดเลือดมูน แปลงเป็นไฟ ไม่ใยดี
แม่กระหาย กายบอบช้ำ ระกำหนัก ด้วยเขื่อนยักษ์ กักน้ำไว้ ในทุกที่
กินไม่ได้ แม่ผ่ายผอม ทุกเดือนปี ไร้เรี่ยวแรง เลี้ยงชีวี ที่รอคอย
มือตีนชา ตาพร่ามัว นอนตัวสั่น ใจรั่วลั่น ลิ้นเอ่ยเสียง สำเนียงอ่อย
บอกลูกหลาน วงศ์วาน อย่างเลื่อนลอย “อย่าท้อถอย แม่จะคอยเลี้ยง เลี้ยงครอบครัว”
หยดน้ำใส ไหลจากตา ฟ้าอ่อนแสง มือไร้แรง เอื้อมออกไป หมายลูบหัว
ฟ้ามืดพลัน มิได้ทัน แตะต้องตัว ลูกหลานทั่ว ระงมไห้ อาลัยมูน
ขอร่างนี้ เป็นเพียงร่าง ทางความคิด ขอชีวิต แม่เอาไว้ อย่าให้สูญ
ขอให้แม่ กลับเป็นแม่ ที่สมบูรณ์ ขอพลัง ลูกหลานมูน เข้าหนุนนำ
“ ด้วยสัญชาติญาณของความเป็นแม่ ย่อมรักลูกทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกของตนหรือลูกคนอื่น แล้วจะมีลูกสักกี่คนที่รักในความเป็นแม่ที่ไม่ใช่แม่ของตน ผมเองก็ได้ชื่อว่าเป็นลูกเพียงแต่ไม่ใช่ลูกแม่มูน”
ตึกขาว
12 ก.ค 47
2.45 น.

Thursday, August 21, 2008

After shock ที่ราชพัสดุ ดอยหล่อ


หลังจากที่มีมติ ครม 10 มิถุนายน 2551 โดยมีเรื่องที่สำคัญหลายเรื่องแต่เรื่องที่หยิบยกมาเป็นประเด็นมากที่สุดคือ เรื่องการเรียกคืนที่ราชพัสดุ 1 ล้านไร่เพื่อนำมาจัดสรรที่ดินให้คนจน ที่สำคัญจุดประสงค์คือเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องวิกฤติพลังงานและวิกฤติอาหาร ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ออกมาแสดงทัศนะต่างๆนานา โดยผู้ที่เห็นด้วยส่วนใหญ่ก็บอกว่า โครงการนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของเกษตรกรได้และที่สำคัญเราจะได้ พื้นที่ในการปลูกพืชพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น แสดงว่าจะช่วยให้เรามาทางเลือกในการใช้พลังงานที่ถูกลงไม่ต้องหวังพึ่งพลังงานจากซากฟอสซิลอย่างเดียว

แต่ผู้ไม่เห็นด้วยกลับโต้แย้งว่า ถ้ามันเป็นอย่างนั้นมันก็ดี แต่นี่ที่1ล้านไร่ที่คุณตั้งเป้าหมายเอาไว้มันมีบทเรียนความล้มเหลวมาแล้วและที่สำคัญในครั้งนี้มันมีเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความล้มเหลวมากกว่าดิมอีก เช่น จัดสรรให้ ครอบครัวละ 10-15 ไร่ ซึ่งอาจจะให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่มีโอกาสตรงนี้ดวยทั้งนี้เพื่อจะได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ซึ่งตรงนี้เป็นข้ออ่อนที่สำคัญและเป็นเป้าของการโจมตีของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าที่ราชพัสดุเป็นที่ของหลวงเป็นที่ของคนทั้งประเทศแต่คุณจะนำมาจัดให้กลุ่มทุนมันสมควรแล้วหรือ

การเคลื่อนไหวที่ชัดเจนที่สุด ในเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ภาคเหนือ คือวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินโยชุมชนภาคเหนือ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์คือ ขอให้มีการทบทวนเรื่องการเรียกคืนที่ราชพัสดุ1ล้านไร่เพื่อนำมาจัดสรรให้คนจน โดยยกกรณีตัวอย่างที่ราชพัสดุที่เคยมีการจัดสรรให้ชาวบ้านใน อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ มาเป็นไฮไลท์ หลังจากนั้นก็มีอาฟเตอร์ซ็อกตามมามากมาย

เริ่มตั้งแต่ การมีบทความของนักวิชาการ บทความของผู้ที่คลุกคลีในพื้นที่ที่เคยมีการจัดสรร สำนักข่าวในท้องถิ่น รวมทั้งมีการปล่อยข่าวในระดับท้องถิ่นเป็นระยะๆ

แต่อาฟเตอร์ซ๊อก ที่น่าจะเป็นกังวลที่สุดคือการปล่อยข่าวในพื้นที่ หลังจากที่เป็นข่าว ทำให้อ.ดอยหล่อมีชื่อเสียอย่างมาก รวมทั้งมีการพาดพิงนายทุนในพื้นที่ทำให้ผู้เสียประโยชน์ตามมา สุดท้ายปล่อยข่าวในเชิงข่มขู่ว่าจะเก็บคนที่เป็นแหล่งข่าว

บอกได้คำเดียวว่า ซวยครับ ชาวบ้านคนที่ให้ข่าวน่ะซวย เข้าทำนองที่ว่าแก่วงเท้าหน้าเสี้ยน เพราะขณะนี้นายทุนกำลังสืบหาตัวอยู่ แต่ผมคิดว่าเขารู้แล้วว่าเป็นใคร เพราะนายทุนก็คนในพื้นที่ ชาวบ้านที่ให้ข่าวก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ต่างคนต่างรู้กัน รอดูแค่ว่าภายหลังการยื่นหนังสือ แล้วทางรัฐจะมีมาตรการอย่างไร กับพื้นที่ ถ้าเกิดมาตรการอย่างไรอย่างหนึ่งขึ้นมาเช่นมีการตรวจสอบพื้นที่อย่างจริงจังหรือไม่ หรือไม่ก็อาจจะเพิกถอนสิทธิ์ในที่ดินของนายทุนในพื้นที่ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ผมว่านอกจาก ชาวบ้านจะซวยแล้วผมว่ากรรมตกไปอยู่ที่ชาวบ้านแน่ นายทุนคงต้องทำอะไรซักอย่างกับชาวบ้านแน่นอน เพราพหากเป็นอย่างนั้นจริงนายทุนเหล่านั่นเสียประโยชน์ไปเหล่าไหร่ล่ะ

แม้ว่าจะเป็นเพียงการปล่อยข่าว ก็ทำให้ชาวบ้านเสียขวัญพอสมควร แล้วชาวบ้านคนที่ให้ข่าวจะได้อะไรล่ะ เงินก็ไม่ได้ กล่องก็ไม่ได้ ดีไม่ดีจะได้ลูกตะกั่ว พวงหรีด หนังสือประวัติหรือไม่ก็บทกวีสรรเสริญมอบให้ในวาระสุดท้าย ซึ่งคงไม่มีใครอยากได้เท่าไหร่หรอก

ผมว่านี่เป็นafter shock อีกอย่างที่น่าติดตามนอกจากในเชิงนโยบาย

ที่ราชพัสดุ ความเจ็บช้ำของชาวดอยหล่อ



เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่มีการจัดสรรที่ราชพัสดุให้กับชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินโดยเป็นนโยบายที่ทำต่อเนื่องจากนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนแบบบูรณาการสมัยอดีตนายกรัฐมานตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ตั้งเป้าไว้ในสมัยที่ยังคงเป็นรัฐบาลในปี 2547 ว่าจะทำให้คนจนหมดไปในปี 2552 แล้วเริ่มโครงการต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค หรือบ้านเอื้ออาทรเป็นต้น ซึ่งนักวิชาการเรียก นโยบายซึ่งเป็นที่มาของโครงการเหล่านี้ว่า นโยบายประชานิยมโดยใช้ความต้องการพื้นฐานของชาวบ้านเป็นตัวตั้งเพื่อซื้อใจชาวบ้านโดยไม่คำนึงผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวหรือผลสำเร็จได้จริง

โครงการจัดสรรที่ทำกินให้กับชาวบ้านเริ่มต้นโดยการ 1. ให้ชาวบ้านลงทะเบียนความเดือดร้อน จากนั้น2.แยกประเด็นปัญหาความเดือดร้อนในแต่ละประเด็น 3.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ 4.ดำเนินการแก้ไขปัญหา

ผมเชื่อว่าในขณะนั้น ดร. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด
ต้องการที่จะทำการแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยใช้โครงการจัดสรรพื้นที่ราชพัสดุที่กิ่ง ดอยหล่อในจังหวัดเชียงใหม่เป็นต้นแบบ โดยวัตถุประสงค์ หลักการ เป้าหมายและยุทธศาสตร์การทำงาน ผมศึกษาดูผมว่าดีมากและผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่เท่าที่ผมติดตามทั้งในระดับพื้นที่และในทางข้อมูลข่าวสารผมว่ามันล้มเหลว ไม่เป็นท่าเลย ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ผิดหลักการ เป้าหมายได้เฉพาะในเชิงปริมาณและพื้นที่ คุณภาพไม่ได้เลย ยุทศาสตร์การทำงานล้มเหลว ซึ่งผมพอจะลำดับเหตุการณ์คร่าวๆได้คือ

โครงการนี้ หลังจากที่มีชาวบ้านลงทะเบียนแก้จนที่อำเภอ แล้วทางอำเภอ ก็แยกประเด็นที่ดินออกมา จากนั้น ส่งข้อมูลผู้ที่มีปํญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้คัดเลือก ผู่ที่มีคุณสมบัติ เหมาะสมที่จะได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน ผ่านการประชาคมหมู่บ้าน จากนั้นส่งข้อมูลผู้ที่สมควรได้รับกลับไปยัง กำนันและสู่อำเภอแล้วทาง อำเภอจะประกาศให้มีคนคัดค้านซึ่งตอนนั้นประกาศไว้ที่อำเภอที่ที่ทำการกำนัน กำหนดไว้ประมาณ 10 วัน จากนั้นทางอำเภอก็ยื่นเรื่องให้ผู้ว่า ให้อนุมัติเป็นผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน
ดอยหล่อ มีคนมาลงทะเบียนปัญหาที่ดินประมาณ 2600กว่า ราย โครงการนี้มีเป้าหมาย 905 ราย คนที่ได้รับการจัดสรรก็905 ราย แต่ปัญหาตรงที่ว่า 905 รายจะมีคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกินจริงๆ ซักกี่ราย เพราะขั้นตอนของการคัดเลือก ยังคงเป็นของคณะกรรมการหมุ่บ้านซึ่งต้องมีระบบเส้นสายอยุ่แล้ว กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต คนกลุ่มนี้ของตายยังงัยก็ได้รับการจัดสรรที่ดิน แล้วไหนจะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมที่หมู่บ้านหนึ่งมีอย่างน้อย 2 คน ไหนจะคณะกรรมการหมู่บ้านฝ่ายต่างๆอีกล่ะ หนึ่งหมู่บ้านจะมีครได้รับการจัดสรรประมาณ 14-20 คน ถ้านับคนกลุ่มข้างต้นเข้าไป จะเหลือโควต้าให้คนจนจริงๆ ประมาณ ไม่เกิน 10 คนด้วยซ้ำ ทั้งนี้กลัวคำครหาและการตรวจสอบ
ดังนั้น คนจน 905 ราย ถ้าตัดคนกลุ่มข้างบนออกก้จะมีคนจนจริงๆอย่างมาก ก็ 400-450ราย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมภายหลังการจัดสรรที่ดินทำกินจึงมีการขายที่แบบเทน้ำเทท่า ปัจจุบันที่ดิน 905 แปลงประมาณ 700 แปลงถูกขายไปแล้ว ส่วนกลุ่มคนที่ซื้อก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ข้าราชการในกรมทีเกี่ยวข้อง นายทุนในพื้นที่ พวกพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงต่างๆ นายหน้า ก็คือ กลุ่มคนที่เป็นคนคัดเลือกทีดินนั่นแหละ เพราะคนกลุ่มนี้จะรู้ว่า ใครได้ที่บ้าง ใครมีศักยภาพที่จะลงทุนและรักษาที่ดินไว้ได้ ใครไม่มีและใครต้องการขาย ส่วนคนที่ขาย ก็คือคนจนจริงๆนั่นแหละ เพราะเขาไม่มีศักยภาพในการลงทุนในการเพาะปลูก ทั้งนี้ด้วยเงื่อนไขของสัญญาที่ยาวเยียดประมาณ 21ข้อได้ การสนับสนุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐเช่น แหล่งน้ำและไฟฟ้า ไม่มีเลย ดอยหล่อมีสภาพพื้นที่เป็นดอยอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลอย่างต่ำก็ 350 เมตร ชาวบ้านจะลงทุนเจาะน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ก็ประมาณ 100,000 บาทเบาะลงไปใต้ดินอย่างน้อยก็ 50 เมตร แล้วคนจนจริงๆจะเอาปัญญาที่ไหนมาทำ เนื้อที่ 3 ไร่ที่ได้รับการจัดสรร+สัญญาเช่า 3 ปี มันจะคุ้มรึเปล่าสุดท้ายก็ขายที่หรือไม่ก็มีการสร้างแนวโน้มและแรงงจูงใจอย่างอื่นให้ขายที่




ในประเด็นพื้นที่ที่มีการจัดสรร พื้นที่นี้เป็นที่ราชพัสดุเป็นของกระทรวงการคลัง แล้วให้ทหารหน่วยงานทหารพัฒนาภาค 3 เป็นคนดูแล เนื้อที่ที่ชาวบ้านเรียกว่าที่หลังกิ่ง(ภายหลังที่ชาวบ้านได้รับแจกชาวบ้านก็เรียกว่าที่ทักษิณบ้าง สวนทักษิณบ้าง )มีประมาณ 3000 ไร่ มีสภาพเป็นป่าแพะหรือป่าละเมาะ มีสภาพเป็นหิน ดินปนทราบ ดอยสูงตำสลับที่ราบ ซึ่งเนื้อที่ประมาณ 40 % ไม่เหมาะที่จะทำการเกษตร จึงเป็นที่เลี้ยงวัวควายของชาวบ้านและนายทุนในพื้นที่ซึ่งมีพ่อเลี้ยงวัว(พ่อค้าวัว,นายฮ้อยวัว)และเป็นที่หาของป่าของชาวบ้านเช่น เห็ด หรือสัตว์ป่าขนาดเล็ก เช่น แย้ นก งูสิงห์ กระแตและที่สำคัญสิ่งที่เป็นที่ขึ้นชื่อของชาวดอยหล่อ คือ กว่างชน หรือแมงกว่าง เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและแหล่งสร้างรายได้ขนาดเล็กให้กับชาวบ้าน ชาวบ้านทุกหมู่บ้านสามารถเข้ามาหาของป่า หาเห็ดและสัตว์ป่าแต่ภายหลังมีการจัดสรรพื้นที่ มีการล้อมรั้วตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ ปลูกพืชใช้สารเคมี ชาวบ้านเก็บเห็ดก็ไม่ได้ หาของป่าก็ไม่ได้ เลี้ยงวัวควายก็ไม่ได้ คนที่ได้ประโยชน์ในพื้นที่แห่งนี้แน่นอนคือเกรมธนารักษ์หรือหลวง ต่อมาก็เป็นชาวบ้าน 905 ครอบครัวที่ได้รับการจัดสรร แต่สุดท้ายจริงๆคือ นายทุนไม่กี่กลุ่มที่เข้ามากว้านซื้อ แล้วชาวบ้านที่เหลือล่ะ อ.ดอยหล่อมีประชากร 27369 คนหรือ ประมาณ 7953 ครอบครัว ถ้าตัด 905 ครอบครัวที่ได้ที่ดินออกไป ชาวบ้านกว่า 7000 ครอบครัวแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากที่ดินแปลงนี้เลย แล้วตอนนีเหลือคนที่ครอบครองที่ดินไม่กี่กลุ่มซึ่งเป็นคนจนทั้งนั้นแล้วชาวบ้านที่เหลือล่ะได้อะไร ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดนะ เอาที่ของคน65 ล้านคน ทั่วประเทศหรือถ้าแคบลงมาคือ เอาที่ของคน 7953 ครอบครัวที่เคยได้รับประโยชน์มาแจกให้คนจนจริงบ้างไม่จริงบ้างซ้ำยังให้สิทธิ์ชาวบ้านเหล่านี้เต็มตัวที่จะสงวนหวงห้ามการหาประโยชน์ในพื้นที่ เหลือคนที่ได้รับประโยชน์เป็นคนรวยไม่กี่คน มันยุติธรรมแล้วหรือ

มาดูที่เรื่องของสัญญา สัญญาที่ราชพัสดุ มีทั้งหมด 19 ข้อไล่ตั้งแต่เรื่องของคู่สัญญาจนถึง การสิ้นสุดของสัญญา แต่สิ่งที่น่าสังเกตุ คือ ในสัญญาฉบับนี้ได้ล็อกเป้าชาวบ้านอย่างชัดเจน
สัญญาเป็นสัญญาเช่าที่ราชพัสดุเพื่อการเกษตร ซึ่งในสัญญาระบุว่าเป็นพืชล้มลุกหรือพืชไร่ โดยรายละเอียดคร่าวๆคือ ในสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ มีข้อตกลง ทั้งหมด 19 ข้อด้วยกัน ซึ่งพิจารณาข้อตกลงแล้ว เงื่อนไขหรือข้อตกลงส่วนใหญ่ขัดแย้ง กับสภาพความเป็นจริง เช่น ในข้อตกลงข้อ 5 บอกว่า ผู้เช่าจะไม่ทำการเปลี่ยนแปลง ขุดคูคลอง บ่อสระ หรือแหล่งขังน้ำใดๆ หรือตัดฟันต้นไม้ยืนต้นเว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากให้ผู้เช่า ทั้งๆที่ความเป็นจริงพื้นที่มีความแห้งแล้ง ใช้ประโยชน์ได้ในเฉพาะหน้าฝน อีกทั้งการไม่ให้มีการปลูกพืชยืนต้นทั้งๆที่ชาวบ้านในเขต กิ่ง อ.ดอยหล่อมีอาชีพทำสวนถึง 70 % แล้วชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินของตนเองส่วนใหญ่รับจ้างในภาคการเกษตรเช่น ทำสวนลำไยจะปลูกอะไร ถ้าได้รับการจัดสรรที่ดินแล้ว

ข้อ 13 ผู้เช่า จะต้องทำการเกษตรตามที่ระบุไว้ในข้อที่ 1. ถ้าหากไม่ทำการเกษตรตามที่ระบุไว้ นับแต่วันที่ทำสัญญา ผู้เช่ายินยอมให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาได้
หากมองตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นดอย ดินมีลักษณะปนทรายค่อนข้างสูงและมีลุกรังผสมประปราย มีต้นไม้ยืนต้นขึ้นกระจัดกระจายสลับต้นไม้ขนาดเล็ก สภาพพื้นที่มีความแห้งแล้ง ไม่มีการจัดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ มีเพียงบ่อ ขนาด ไม่เกิน 4 ไร่ ลึกประมาณ 3 เมตร อยู่4-5 บ่อ ซึ่งบางบ่อเป็นบ่อน้ำที่ใช้ร่วมกันของหมู่บ้านใกล้เคียง ในช่วงที่มีการแจกสัญญาเองเข้าหน้าฝนยังสามรถมองเห็นก้นบ่อได้ อีกทั้ง 2-3 บ่อเป็นบ่อที่อยู่ต่ำกว่าพื้นที่ ดังนั้นต้องลงทุนอย่างมากที่จะนำน้ำขึ้นไปใช้ในที่สูงที่อยู่รอบพื้นที่ แล้วสมมุติว่าหากไม่มีการพัฒนาสาธารณูปโภคชาวบ้านจะทำประโยชน์ภายในหนึ่งปีได้อย่างไร คนจนจะแก้ไขปัญหาอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ ทั้งๆการลงทะเบียนคนจนคนที่มีรายได้ต่ำว่าครอบครัวละ 20,000 บาทต่อปีถึงจะเรียกว่าคนจน ซึ่งการลงทุนข้างต้นอย่างน้อย ต้องลงทุนไม่ต่ำว่า 30,000 บาทในการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำและต่อท่อขึ้นไปสู่แปลงและสิ่งที่ตามมาคือหากมีการลงทุนแล้วจะคุ้มหรือไม่กับระยะเวลา 3 ปีส่วนข้อตกลงอีกข้อซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของการแก้ไขปัญหาเรื่องความยากจนเรื่องที่ดิน คือเรื่องของสิทธิ์ในการเช่า ซึ่งในสัญญาข้อที่ 7 ระบุว่า ผู้เช่าจะไม่นำที่ดินที่เช่า ทั้งหมดหรือบางส่วน ให้เช่าช่วง หรือยอมให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เช่าเป็นอันขาด เว้นจะได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าก่อน ซึ่งข้อนี้จะเป็นหลักประกันได้ว่าหากคนจนจริงๆที่ได้รับการจัดสรรเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์




และประเด็นสุดท้าย เรื่องการบริหารจัดการและเรื่องการตรวจสอบ ทั้งๆที่รู้ว่าสภาพพื้นที่เป็นป่า เป็นดอยเป็นหิน และแห้งแล้งแต่ทางกลับกันไม่มีการวางระบบสาธารณูปโภคให้ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำหรือไฟฟ้า มันจะปลูกพืชได้อย่างไร พืชอยู่ในน้ำได้ แต่พืชอยู่ใสนดินแต่ไม่มีน้ำไม่ได้ ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้เป็นการสร้างเนื่องไขในการสร้างข้อจำกัดบีบให้ชาวบ้านขายที่ตั้งแต่แรกรึเปล่า หรือไม่ก็เป็นความโง่อย่างดักดานของคณะดำเนินงานของโครงการ

การตรวจสอบพื้นที่ ผมว่า ทางเจ้าหน้าที่ราชการเขารู้นะถ้าเขามีการตรวจสอบ เพราะรายชื่อของคนที่ได้รับสามารถตรวจสอบได้นี่ว่าคนจนรึเปล่า หรือเขาต้องการเพียงเพื่อทำให้มันเสร็จๆไป พื้นที่อยู่หลังกิ่งอำเภอไม่ถึง 2 กิโลเมตร ถ้าเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องการที่จะตรวจสอบจริง ตอนพักเที่ยงขี่มอเตอร์ไซค์ไปดูยังได้เลย ว่าพื้นที่นี้ใช้ประโยชน์อย่างไร และมีการครอบครองในปัจจุบันอย่างไร บางแปลงมีการล้อมรั้วผมลองขับรถแล้วดูไมล์ที่หน้าปัดรถ ความยาวของพื้นที่หน้าตัดที่ติดถนนเกือบ 300 เมตร เท่านี้มันก็รู้แล้วว่า มันเกินสามไร่ การล้อมรั้วแต่ละแปลงก็ไม่เท่ากัน มันก็เป็นตัวชี้วัดได้ว่าเนื้อที่มันมีการเปลี่ยนแปลง แล้วทำไมไม่ทำอะไร ยิ่งไปกว่านั้นบางแปลงกรมพัฒนาที่ดินขุดบ่อให้ ถึง 2 บ่อ โดยได้รับเงินสมทบจากชาวบ้าน กรมพัฒนาที่ดินเขาไม่ได้ประสานกับทางอำเภอหรือทางธนารักษ์รึยังไง ถึงได้มีการขุดบ่อในแปลงขนาดใหญ่เกือบ 21 ไร่ทั้งๆที่ดินตามสัญญากำหนดให้แต่3 ไร่

รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศและสวนยางผุดกลางที่ราชพัสดุ ผมดูแล้วมันแปลกดีนะ นี่เป็นที่รัฐแจกให้คนจนไม่ใช่หรือ แล้วมีรีสอร์ทได้อย่างไร สวนยางเนื้อที่กว่า 60 ไร่มาจากไหน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแต่เจ้าหน้าที่หรือส่วนที่เกี่ยวข้องกลับปิดหูปิดตาตนเอง ไม่รู้ไม่เห็น


ก่อนจบผมอยากให้ ลองไปถามชาวบ้านกลุ่มปฏิรุปที่ดินโดยชุมชนบ้านดอยหล่อ ดูว่า ในปี 2523 เกิดอะไรขึ้นกับหมู่บ้านของเขาที่ดินหน้ากิ่งอ.ดอยหล่อกว่า 500 ไร่ซึ่งเป็นที่สาธารณะ ถูกแปลงเป็นโฉนด ของคนคนเดียว ในวันเดียว เดือนเดียว ปีเดียว โดยอ้างชื่อคนที่มีไม่ตัวตนขายให้ แล้วคนที่มีชื่อในโฉนดไม่ใช่ใครที่ไหนเป็นคนที่ มีนามสกุลอ่านเหมือนกับนามสกุลเจ้าของนโยบายนี้นั่นเอง มันเจ็บปวดนะ

Monday, March 24, 2008

อาลัยแม่ - Miss You


แม่ลูก ผูกพันธ์

แม่ ให้ตั้งแต่เกิด จำความ
ลูก อุ่นในทุกยาม แม่ใกล้
ผูก มือด้วยด้ายงาม ยามไกล
พันธ์ ลูกกับแม่ไว้ แม้วาย ชีวัน


กอด แม่ในยามแม่ ยังอยู่
กล่อม แม่ให้หลับสู่ สรวงสวรรค์
กราบ แม่ส่งแม่สู่ ภพนิรันดร์
เกาะ แม่เป็นหลานมั่น ทุกภพชาติไป


สายลมต่างบ้าน
ดึกแล้วนะคนดี1111111111เวลานี้เจ้าจะพัดไปแห่งไหน
จะพัดใกล้หรือไกล11111111ข้ามีอะไรจักขอวาน
หากคืนนี้ยังพัดอยู่ 11111111จงนำความนี้สู่คนทางบ้าน
บ้านที่รักจากมาแสนนาน 1111รวมถิ่นฐานเมืองนอน
ถึงแม่พ่อที่รอรับ 11111111รอลูกกลับมาพักผ่อน
ถึงน้องพี่ที่อาวรณ์ 1111111ยามเราจรจากกันไกล
น้อมนำ ดำหัว ย่า 1111111ผู้ห่วงหาข้าอยู่ไหน
สุข ทุกข์หรืออย่างไร 1111เหตุอันใดไม่กลับมา
ฝากลมช่วยข้าตอบ 111111ช่วยข้ามอบความปรารถนา
เป็นสุข ทุกเวลา 1111111แม้ตัวข้ายังห่างไกล
สายลมในทางนี้ 1111111เป็นสายลมที่อ่อนไหว
คือสายลมที่ห่วงใย 111111เหมือนข้าได้จากเมืองนอน
แม้เป็นลมต่างบ้าน 111111ต่างถิ่นฐานจากแต่ก่อน
แต่ช่วยคลายทุกข์ร้อน11111 ให้ข้านอนหลับสบาย
ลมเอยช่วยพัดพา 11111111ความของข้าสู่ที่หมาย
ความรู้สึกลูกผู้ชาย1111111 กลับสู่ใต้ชายคาเรือน